วันที่ 25 มีนาคม 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บริษัท จีอี มอเตอร์ (ประเทศไทย), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และ บริษัท กริชวิช (ประเทศไทย) จำกัด จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. กล่าวว่า ENTEC สวทช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศให้เข้าไปสู่ carbon neutrality ผ่านศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ทั้งด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม การสัมมนาครั้งนี้เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตในระดับ 360,000 คัน ในอีกสี่ปีข้างหน้า และในระดับ 675,000 คัน ในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในความจุพลังงาน และระยะเวลาการชาร์จของแพ็กแบตเตอรี่ รวมถึงความไม่คล่องตัวในการใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน และผู้ให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่ได้เล็งเห็นร่วมกันถึงความสำคัญของการมีแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีคุณลักษณะที่แพ็กแบตเตอรี่สามารถสับเปลี่ยนระหว่างรถหลายรุ่น หลายยี่ห้อ และสามารถนำไปสับเปลี่ยนชาร์จได้ที่หลายสถานี จึงได้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมไปกับการพิจารณาการจัดการในภาพรวมของการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการระบบประจุไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย

การสัมมนาประชาพิจารครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานในโครงการที่จัดขึ้นเพื่อขอความเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในมุมมองของ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่แพ็กสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตและให้บริการระบบประจุไฟฟ้าสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการด้านการจัดการข้อมูลและพัฒนาแอพพลิเคชั่นการใช้งาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดและใช้มาตรฐาน รวมถึงผู้ให้บริการการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่แพ็ก และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของโครงการ โดยข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาจะนำไปดำเนินการต่อเป็นต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนามาตรฐานของแพ็กแบตเตอรี่ในประเทศต่อไป

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (ENTEC) หัวหน้าโครงการฯ
บรรยายให้ข้อมูลถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ

ดร.ธัญญา แพรวพิพัฒน์ นักวิจัย (ENTEC) ทีมวิจัยโครงการฯ
นำเสนอภาพรวมทางเทคนิคของระบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ดร.เปรียว เอี่ยมละมัย นักวิจัย (ENTEC) และ รศ.ดร. นงลักษณ์ มีทอง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีมวิจัยโครงการฯ
นำเสนอรูปแบบแพ็กแบตเตอรี่และเปิดรับฟังความคิดเห็น ด้านกายภาพในประเด็นขนาดของแพ็กแบตเตอรี่,
ระดับแรงดันไฟฟ้าของแพ็กแบตเตอรี่ และในประเด็นของคอนเนคเตอร์

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล และ ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ นักวิจัย (ENTEC) ทีมวิจัยโครงการฯ
นำเสนอรูปแบบแพ็กแบตเตอรี่และเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบควบคุมและสื่อสาร
ในประเด็นของระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และ open protocol

ดร.อุกฤษฎ์ สหพัฒน์สมบัติ นักวิจัย (ENTEC) ทีมวิจัยโครงการฯ
นำเสนอข้อมูลด้านมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่มอเตอร์ไซต์ และตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่